วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ขี้หมู กับ เทคนิคการปลูกมันสำปะหลังแนวใหม่ ให้ได้ผลผลิต สูง

มันสำปะหลัง เทคนิคการเพิ่มผลผลิตแบบชาวบ้าน 30 ตันต่อไร่ รวมกลุ่มปลูกมันสำปะหลังแนวใหม่  พร้อมตั้งโรงงานแปรรูปขายเอง


หลังจากมันสำปะหลังที่เคยเป็นพืชนอกสายตาได้กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจอย่างมากหลังจากที่ราคามันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกับการคิดค้นเพื่อหาเทคนิควิธีการที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของมันสำปะหลังให้สูงขึ้นจนทำกำไรอย่างงามให้กับผู้ปลูก ทำให้มันสำปะหลังมีการขยายพื้นที่ปลูกกันทั่วประเทศทั้งในพื้นที่แหล่งผลิตเดิมและพื้นที่ใหม่ๆ แต่การปลูกมันสำปะหลังที่ผ่านมานั้นเกษตรกรส่วนใหญ่จะการปลูกมันในแบบเทวดาเลี้ยง มีการดูแลใส่ปุ๋ยบ้างเล็กน้อย ปล่อยทิ้งปล่อยขว้าง ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร เนื่องจากเกษตรกรไม่มีความรู้และแรงจูงใจในการเพิ่มผลผลิต จากปัญหาตรงนี้จึงทำให้ผลผลิตได้น้อย หนี้สินก็ตามมา เช่นเดียวกับเกษตรกร ต.โพนงาม อ.กุดชุม จ.ยโสธร ที่แม้จะทำมันสำปะหลังกันมาแทบจะทั้งชีวิตแต่ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นเลย แถมบางครั้งยังขาดทุนอีกด้วย ส่วนที่เพิ่มขึ้นมีแต่หนี้สิน จนกระทั่งหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะ ธกส. ได้เป็นหัวเรือใหญ่ เข้ามาให้ความรู้ ความเข้าใจในการปลูกมันสำปะหลังแนวใหม่แบบลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต จนสามารถทำให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังได้ถึง 30 ตันต่อไร่ ช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรได้อย่างงาม พร้อมกับส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มเพื่อขยายเทคนิคนี้สู่เกษตรกรและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังภายใต้ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ คุณธรรม ครบวงจร จังหวัดยโสธร ที่รวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดเข้ามาเป็นสมาชิกกว่า 30 กลุ่ม สมาชิกมากกว่า 1,000 คน พื้นที่ปลูกมันกว่า 3 หมื่นไร่
คุณขณิฏฐ์ศา สิงห์ศิริกุล เลขานุการเครือข่าย ให้ข้อมูลถึงที่มาของ การจัดตั้งเครือข่ายว่า เครือข่ายฯ เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนลานมันระดับตำบลของจังหวัดที่เป็นสมาชิกของเครือข่าย มีการสร้างโรงอบเพื่อรองรับผลผลิตมันของสมาชิกที่พร้อมเปิดให้บริการได้ในต้นปีหน้านี้ รองรับการผลิตมันเส้นได้วันละ 300-400 ตัน เนื่องจากการแปรรูปผลผลิตจะได้มันเส้นอยู่ประมาณ 70% ของจำนวนมันสดที่ส่งเข้าโรงอบ หมายความว่าจะต้องมีมันสดเข้าโรงอบไม่น้อยกว่า 500 ตัน จึงเกิดการรวมวิสาหกิจชุมชนทั้งที่มีอยู่แล้วและจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาใหม่เพื่อร่วมเครือข่าย โดยสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนแต่ละกลุ่มมีตั้งแต่ 7-50 คน โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จาก ธ.ก.ส. ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะให้กู้กลุ่มละ 1-2 ล้านบาท ขึ้นกับจำนวนสมาชิก อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี เมื่อครบปีหลังจากขุดมันแล้วสมาชิกก็จะนำเงินมาจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ย สมาชิกรุ่นแรกที่กู้ไปจะจ่ายคืนเงินก้อนแรกในเดือนมีนาคม 2557 นี้ โดยมีสมาชิกกู้เงินไปแล้วทั้งหมด 5 กลุ่ม เป็นจำนวนเงิน 8 ล้าน 3 แสนบาท โครงการมัน 30 ตันต่อไร่นี้เป็นเทคนิคที่ทาง ธ.ก.ส. นำมาส่งเสริมให้กับสมาชิกได้นำไปใช้ ซึ่งเป็นงานวิจัยจาก ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน สมาชิกทุกคนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการถ่ายทอดเทคนิคนี้ทุกคน เพื่อให้ทุกคนสามารถเดินไปในทิศทางเดียวกันได้
ใน ต.โพนงาม อ.กุดชุม จ.ยโสธร ได้มีการก่อตั้งรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมันเส้นอินทรีย์ส่งออก ในโครงการนี้มีกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการอยู่ 8 กลุ่มนำร่อง มีสมาชิก 70 ราย มีพื้นที่การปลูกมันทั้งหมดประมาณ 2,000 ไร่ และหนึ่งในจำนวนกลุ่มที่กล่าวนี้ หนึ่งกลุ่ม ภายใต้การนำของ คุณประดิษฐ์ บุญทวี ประธานกลุ่ม เล่าว่า สมาชิกกลุ่มของเขามี 15 ราย มีพื้นที่ปลูกมัน 120 ไร่ เล่าว่า ในพื้นที่ของ ต.โพนงามแถบนี้จะปลูกข้าวและมันสำปะหลังกันเป็นหลัก โดยเฉพาะมันนั้นเมื่อก่อนก็ปลูกแบบเทวดาเลี้ยงเหมือนที่เคยทำกันมา ชาวบ้านดูแลใส่ปุ๋ยกันปีละครั้งสองครั้ง ผลผลิตที่ได้ก็น้อยไม่คุ้มกับการต้องเสียเวลาปลูกกันทั้งปี ผลผลิตเพียง 3-5 ตัน/ไร่เท่านั้น เมื่อปีที่ผ่านมาทาง ธกส.ร่วมกับนักวิชาการ ได้ทำโครงการปลูกมัน 30 ตันต่อไร่ โดยเน้นให้เกษตรกรลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สามารถต่อรองกับพ่อค้าคนกลางได้ แล้วยังมีลานมันสถานที่รับซื้อเป็นของทางกลุ่มอีกด้วย คุณประดิษฐ์ บอกว่า ส่วนมากจะปลูกมันกันก่อนปลูกข้าวและหลังปลูกข้าวก็ได้ เริ่มปลูกในช่วงเดือน พ.ย. – เม.ย.และ พ.ค.ส่วนคนที่มีพื้นที่เยอะก็จะทยอยปลูกกันตลอดทั้งปี ก่อนหน้านี้เกษตรกรปลูกมันได้เพียงแค่ 2-2.5 ตันต่อไร่ ปีที่ผ่านมามีแปลงสาธิตของโครงการปลูกมัน 30 ตันต่อไร่ แรกๆนั้นก็ไม่อยากจะเชื่อ แต่เมื่อผลผลิตที่ได้นั้นการันตีว่าได้ผลผลิต 30 ต่อไร่จริง จึงได้ไปทดลองปลูกในไร่ของตนเองจำนวน 1 ไร่ ซึ่งก็ให้ผลผลิตเป็นจริง จากนั้นจึงได้ขยายพื้นที่ปลูกเป็น 30 ไร่ จุดแข็งของการปลูกมัน 30 ตันต่อไร่นี้ เน้นการใช้อินทรีย์ขี้หมูและน้ำหมักชีวภาพ โดยจะใส่ปุ๋ยขี้หมูรองพื้นก่อนปลูกไร่ละ 1 ตัน ที่สำคัญก็คือ การเตรียมดินต้องตีดินให้ละเอียด เพื่อให้รากและหัวเจริญเติบโตได้ดี และการใช้ท่อนพันธุ์มันที่ปลูกโดยใช้เทคนิคการทุบตาซึ่งจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว


เทคนิคการปลูกมันสำปะหลังแนวใหม่ การันตีผลผลิต 30 ตันต่อไร่

1.ขั้นตอนการเตรียมดินและแปลงปลูก
ไถแปลงปลูกโดยใช้ผาน 3 จากนั้นอีกประมาณ 7 วันให้ไถแปลงปลูกโดยใช้ผาน 5 หรือ ผาน 7 หลังจากปรับพื้นที่แล้ว ให้โรยปุ๋ยชีวภาพ เช่น มูลไก่ มูลสุกร มูลวัว ไร่ละ 2 กระสอบทิ้งไว้ประมาณ 1 วัน แล้วจึงพ่นน้ำหมักสุกรให้ทั่วแปลง แล้วไถยกร่องด้วยผาน 3 ความสูงร่องประมาณ 50 ซม. ระยะห่างในการปลูก 1×1 เมตร ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน เพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานจึงนำท่อนพันธุ์มาลงปลูก

2.การเตรียมท่อนพันธุ์ด้วยเทคนิคการทุบตา
ตัดท่อนพันธุ์ขนาดความยาว 40-60 ซม.ใช้เลื่อยตัดเท่านั้น แล้วทุบตาท่อนพันธุ์ส่วนที่จะปักลงในดิน ความยาว 25 ซม.หรือประมาณ 5-7 ตา นับจากโคน โดยทุบด้วยไม้ที่มีลักษณะเป็นทรงกลมแค่แตก ซึ่งก็ระวังอย่าให้แก่นแตก เสร็จแล้วน้ำท่อนพันธุ์ที่ทุบตาแล้วแช่ในน้ำหมักมูลสุกร 1 คืน ประมาณ 10-12 ชม. โดยวางท่อนพันธุ์ในแนวนอนให้น้ำหมักท่วมท่อนพันธุ์ เมื่อได้ท่อนพันธุ์ที่แช่น้ำหมักแล้วก็ให้นำไปปักในแปลงปลูกที่เตรียมไว้ โดยปักส่วนที่ทุบตา ความยาว 25 ซม.ลงในดิน ให้ท่อนพันธุ์ส่วนที่อยู่บนดิน มีความยาว 15 ซม. ก่อนปักท่อนพันธุ์ลงไปควรใช้ไม้แหลมเสียบนำก่อน ให้ระยะห่างต่อต้น 1×1 เมตร 1 ไร่ปลูกได้ 1,600 ต้น ซึ่งส่วนของตาที่ทุบจะเป็นส่วนที่เกิดหัวมันขึ้นมา

3.การดูแลในแปลงปลูก
หลังจากปลูกประมาณ 15 วันท่อนพันธุ์จะแตกยอดให้ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักมูลสุกรให้เปียกโชก ทั้งส่วนบนและใต้ใบในอัตรา 1:20 ส่วน (ใช้มูลสุกรมาหมักทิ้งไว้ 1 คืน โดยเติมน้ำให้ท่วมมูลสุกรแล้วกรองเอาเฉพาะส่วนของน้ำ นำมาเติมน้ำ 20 ส่วนก่อนนำไปใช้) และฉีดพ่นน้ำหมักมูลสุกรอย่างต่อเนื่อง ทุกๆ 15 วัน จนครบ 6 เดือน ช่วงเวลาที่ควรฉีดพ่นน้ำหมักมูลสุกร ได้แก่ ตอนเช้ามืดหรือตอนเย็น เพราะเป็นเวลาที่ปากใบเปิด

4.การเก็บเกี่ยว การแปรรูปและการรับซื้อผลผลิต
มันสำปะหลังอายุ 8-12 เดือนก็จะสามารถขุดหัวมันได้แล้ว โดยหัวมันแต่ละต้นจะให้น้ำหนักประมาณ 25-30 กก. เลยทีเดียว จึงทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 30 ตัน เมื่อเก็บเกี่ยวหัวมันขึ้นมาแล้ว เกษตรกรก็จะนำมาสับ แล้วตากแห้งใช้เวลา 3 วันก็ขายได้ ซึ่งปัจจุบันการแปรรูปมันเพื่อจำหน่ายจะใช้วิธีการสับด้วยมือ และนำมาขายให้กับลานรับซื้อของกลุ่ม โดยได้รับการสนับสนุนจากทาง ธกส. โดยจะรับซื้อทั้งมันแห้งและมันสด ปริมาณการรับซื้อในแต่ละวันนั้น หากเป็นช่วงก่อนเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจะได้ประมาณ 130-150 ตันต่อวัน หลังเกี่ยวข้าวจะได้ประมาณ 60 ตันต่อไร่ เนื่องจากช่วงหลังเกี่ยวข้าว เป็นหน้าฝน พื้นดินต่ำ ทำให้น้ำขังเกิดอาการหัวเน่าเสีย ฉะนั้น ในเขต ต.โพนงาม จึงปลูกกันในเดือน พ.ย. ราคามันสดที่รับซื้อ 2.50 บาท มันแห้ง 5 บาท ช่วงที่ราคาถูกจะเป็นช่วงก่อนทำนา เนื่องจากเปอร์เซ็นต์มันไม่ได้ถึง 30% ได้เพียง 22 % ราคาจึงลดลงเหลือเพียงแค่ 2 บาท ถ้าเป็นช่วงที่มันได้ราคาค่อนข้างดี จะเป็นช่วงหลังปีใหม่ไปแล้วอาจจะได้ 3 บาทต่อกก. คุณประดิษฐ์ บอกว่า ในพื้นปลูกร่วมกับสมาชิก 120 ไร่ ได้ไร่ละ 35 ตัน นอกจากผลผลิตเพิ่มแล้ว ต้นทุนการผลิตยังลดลงอีกด้วย โดยต้นทุน 1 ไร่ ลงทุนประมาณ 10,000 บาท กำไร 50,000 บาทต่อไร่ต่อปี

33
ในต้นปีหน้าโรงอบของเครือข่ายที่จะสามารถเปิดให้บริการได้นั้นจะทำให้เกษตรกรไม่ต้องขายมันสับมือแต่จะขายหัวมันสดซึ่งจะนำมาผ่านเครื่องสับและเครื่องอบที่ทันสมัย สามารถรองรับผลผลิตได้มากถึง 500 ตันมันสด ซึ่งจะแปรรูปได้มันแห้ง 200-300 กก. โดยมันสด 2 กก. จะแปรรูปเป็นมันแห้งได้ 1 กก. นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆได้เป็นอย่างดี

สั่งซื้อปุ๋ย ศุภวัตร 0813942485
ข้อมูลเพิ่มเติม คุณขณิฏฐ์ศา สิงห์ศิริกุล โทร.093-4546354

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น